Blank Template for Bootstrap

การรักษารากฟัน

Card image cap

การรักษารากฟันเป็นทันตกรรมแขนงหนึ่งที่มุ่งเน้นด้านการรักษารากฟันและเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน ซึ่งสาเหตุโดยทั่วไปเกิดเนื่องมาจากการติดเชื้อบริเวณปลายรากฟัน หรือเกิดจากการหัก ร้าว หรือผุ ลึกลงไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟันซึ่งมีเส้นประสาทและเส้นเลือดอยู่ ก่อให้เกิดอาการปวดและบวมที่บริเวณนั้น บางครั้งอาจเกิดความเสียหายต่อกระดูกขากรรไกรหรือกล้ามเนื้อ รวมถึงการติดเชื้อและการอักเสบในโพรงฟัน การรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจึงมีความสำคัญและช่วยให้ผู้ป่วยยังคงสามารถเก็บฟันซี่นั้นได้ โดยไม่ต้องถูกถอนทิ้งไป

โดยในอดีตปัญหาเหล่านี้มักจะได้รับการแก้ไขด้วยการถอนฟันซี่นั้นทิ้งไป แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวิธีการรักษาทางทันตกรรมรวมถึงเทคโนลยีด้านเทคนิค วัสดุและอุปกรณ์ทางทันตกรรมที่ช่วยให้สามารถรักษาอาการดังกล่าวได้ด้วยการรักษารากฟัน ซึ่งช่วยให้ผู้เข้ารับบริการไม่ต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไป

ข้อดีของการรักษารากฟัน
  • ช่วยกำจัดแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการอักเสบ
  • ช่วยขจัดความเจ็บปวด
  • ช่วยป้องกันการแพร่ขยายบริเวณของการติดเชื้อ

ขั้นตอนของการรักษารากฟัน
  1. ขั้นตอนการวินิจฉัยและการเตรียมฟันเพื่อรับการรักษา
    • การถ่ายเอ๊กซเรย์ฟิลม์เล็กเพื่อตรวจดูสภาพและรูปร่างของฟัน รวมถึงบริเวณที่มีการติดเชื้ออักเสบ
    • ทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชาบริเวณนั้น
    • การเจาะเปิดโพรงฟันเพื่อตัดเนื้อฟันที่ติดเชื้อออกไป
  2. ขั้นตอนการทำความสะอาดโพรงรากฟัน
    • การทำความสะอาดโพรงรากฟันอาจทำมากกว่า 1 ครั้ง สำหรับผู้ป่วยบางท่าน เพื่อความมั่นใจว่าโพรงรากฟันได้รับการทำความสะอาดอย่างสมบูรณ์
    • สำหรับผู้ป่วยบางท่าน ทันตแพทย์อาจทำการใส่ยาลงในโพรงรากฟัน เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อาจหลงเหลือ และป้องกันการกลับมาติดเชื้อ
  3. ขั้นตอนการอุดปิดโพรงรากฟัน
    • หลังจากโพรงรากฟันได้รับการฆ่าเชื้อแล้วนั้น ทันตแพทย์จะทำการอุดปิดโพรงรากฟัน
  4. ขั้นตอนการใส่เดือยฟันและครอบฟัน
    • ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันแล้วนั้นจะมีความแข็งแรงน้อยลง มีความเปราะบางมากขึ้น ดังนั้นการทำเดือยฟันและครอบฟันจึงมีความสำคัญเพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงและช่วยปกป้องฟันซี่นั้น
  5. การดูแลความสะอาดฟันและช่องปาก และการเข้ารับการตรวจสภาพฟันทุก 6 เดือนหรือตามที่ทันตแพทย์นัดก็มีความสำคัญอย่างมาก ช่วยให้สามารถพบและแก้ไขปัญหาได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ

วัตถุประสงค์หลักของการรักษารากฟันคือการที่ทันตแพทย์สามารถที่จะกำจัดเชื้อโรคในโพรงประสาทฟันออกไปได้ทั้งหมด รวมไปถึงการอุดปิดโพรงรากฟันได้อย่างแนบสนิทเพื่อป้องกันการกลับมาของเชื้อโรคอีกด้วย

อาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการเข้ารับการรักษารากฟัน

ช่วงระยะเวลา 2-3 วันแรกหลังได้รับการรักษารากฟันแล้วนั้น ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกเสียวฟันอันเกิดเนื่องมาจากเนื้อเยื่อได้เคยเกิดการอักเสบติดเชื้อ โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการปวดมาก่อนเข้ารับการรักษา ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถแก้ไขด้วยการรับประทานยาแก้ปวดทั่วไปและอาการดังกล่าวจะหายไปในเวลาไม่นาน

วิธีการดูแลเมื่อเข้ารับการรักษารากฟันและเมื่อเสร็จสิ้นการรักษา

ในช่วงเวลาของการรักษารากฟัน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการบดเคี้ยวบริเวณฟันที่ได้รับการรักษา เนื่องจากทันตแพทย์จะทำการอุดปิดโพรงฟันแบบชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นฟันซี่นั้นจึงไม่มีความแข็งแรงมากพอที่งานได้ตามปกติ และเมื่อการรักษารากฟันเสร็จสิ้นแล้วนั้น ฟันซี่ดังกล่าวก็จะมีความแข็งแรงไม่เท่าดังเดิม ดังนั้นทันตแพทย์จึงแนะนำให้รับการใส่เดือยฟันและครอบฟันเพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงและป้องกันฟันซี่นั้นจากการติดเชื้อและฟันแตกหัก

เพื่อสุขภาพปากและฟันที่ดีควรทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี รวมถึงการพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันปัญหาในช่องปากและฟันได้


D E N T A C A R E   C L I N I C

เดนต้าแคร์ คลินิก
1010/18-20 ถนนพระราม 4 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500

 02-2357755, 02-6338877, 086-3044545
 dentacareclinic@hotmail.com

 Line ID: denta.ch

Copyright 2024.  All rights reserved.