ฟันกรามซี่ในสุดหรือที่เรียกกันว่าฟันคุดนั้น เป็นฟันกรามแท้ชุดสุดท้ายที่จะออกมาตอนช่วงอายุระหว่าง18 ถึง 20 ปี ซึ่งในความเป็นจริงฟันกรามชุดนี้ก็มิได้มีความแตกต่างจากฟันซี่อื่นๆเลย มีความสามารถในการบดเคี้ยวเท่าเทียมกับฟันกรามซี่อื่นๆ เพียงแต่น้อยคนนักที่มีฟันกรามขึ้นมาตามปกติพร้อมกับมีตำแหน่ง ลักษณะการขึ้นที่เหมาะสมและมีเหงือกโดยรอบที่มีสุขภาพดี
เมื่อไรก็ตามที่ฟันกรามซี่ในสุดมีอุปสรรคในการขึ้น อาจเนื่องจากลักษณะการงอกออกมา หรืออะไรก็ตาม จะเรียกว่าเป็นฟันคุด ซึ่งทันตแพทย์จะทำการเอ๊กซเรย์ดูลักษณะและตำแหน่งการวางตัวของฟันและวิเคราะห์ถึงความผิดปกติ ก่อนทำการหาวิธีการแก้ไข เนื่องจากฟันคุดเป็นสาเหตุที่สามารถก่อให้เกิดการอักเสบของเหงือก การติดเชื้อ โรคเหงือก การเป็นฝีในช่องปาก หรือ ส่งผลให้ฟันซี่ข้างเคียงสามารถผุได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ดังนั้นทันตแพทย์โดยส่วนใหญ่จะแก้ปัญหานี้โดยการผ่าตัดเพื่อถอนฟันคุดออกไป
ในบางรายที่ถึงแม้ฟันกรามซี่ในสุดจะสามารถขึ้นมาได้อย่างปกติก็ตามทันตแพทย์ก็ยังอาจแนะนำให้ทำการถอนออกไป ถ้าเล็งเห็นว่าฟันซี่นั้นไม่มีประโยชน์ อาจมีผลกระทบต่อการบดเคี้ยวและฟันซี่ข้างเคียง หรือมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคเหงือกหรือการอักเสบบริเวณนั้นได้ เนื่องจากการดูแลรักษาความสะอาดบริเวณด้านในสุดของช่องปากนั้นมีความยากลำบาก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ฟันกรามซี่หลังนั้นสามารถผุได้ง่าย รวมถึงการอักเสบของเหงือกอีกด้วย อย่างไรก็ตามทันตแพทย์จะพิจารณาอาการและปัญหาพร้อมวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไปของผู้เข้ารับบริการแต่ละบุคคล
โรคและอาการต่างๆที่มีสาเหตุจากฟันคุดมีดังนี้
- คราบหินปูนและแบคทีเรียบนฟันและซอกเหงือก
- สามารถเกิดการผุได้ง่ายเนื่องจากเป็นอุปสรรคในการทำความสะอาด
- การเกิดต่อมน้ำหรือก้อนซีสในเหงือก
- อาจก่อให้เกิดอาการปวดบวม
- การอักเสบติดเชื้อ
- โรคเหงือกและขากรรไกร
ทันตแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าฟันคุดเมื่อผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้
- มีผลกระทบต่อการสบของฟัน
- ไม่มีประโยชน์ในการใช้งาน
- มีการผุเยอะมาก
- เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเหงือก
หรือสามารถก่อให้เกิดปัญหาโรคเหงือก
- เป็นสาเหตุให้การบูรณะฟันซี่ข้างเคียงทำได้อย่างยากลำบาก
ผู้ป่วยแต่ละบุคคลจะมีลักษณะการขึ้นของฟันและอาการที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันแพทย์เกี่ยวกับความจำเป็นและวิธีการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุด
อาการต่างๆที่เกิดจากการที่ฟันคุดเริ่มงอกออกจากเหงือก
- อาการปวดบริเวณเหงือก
- เกิดการอักเสบติดเชื้อ
- อาการบวมที่หน้า
- อาการเหงือกบวมบริเวณแผลที่ผ่า
การเข้ารับผ่าตัดตั้งแต่ระยะแรกนั้นช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง
ขั้นตอนของการผ่าตัดเพื่อถอนฟันคุด
- ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและวิเคราะห์โรค
- ทันตแพทย์จะทำการตรวจในช่องปากและพิจารณาถึงความจำเป็นในการถอนฟัน
- ในบางกรณีการถ่ายเอ๊กซเรย์อาจมีความจำเป็นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาซึ่งสามารถบอกสภาพฟัน
รากฟันและกระดูกรองรับฟันได้
- ทันตแพทย์จะทำการจดบันทึกข้อมูลและประวัติด้านสุขภาพของผู้ป่วย
ซึ่งผู้ป่วยควรให้ข้อมูลด้านสุขภาพของตนที่ถูกต้องและครบถ้วน
โดยเฉพาะปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเมื่อได้รับการถอนฟัน
ปัญหาการหยุดไหลของเลือด ปัญหาสุขภาพเช่นโรคตับ และโรคเบาหวาน
และการแพ้อาหารและยาประเภทต่างๆ เป็นต้น
- การเตรียมบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
- ทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชาบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
- ขั้นตอนการผ่าตัด
- การผ่าตัดเปิดเหงือก
- การถอนฟันคุดออก
- การเย็บปิดปากแผล
- ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาหลังการถอนฟัน
หลังการถอนฟัน ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที เลือดจะหยุดไหลภายในเวลาสั้นๆ และแผลจะสามารถสมานตัวได้เอง แต่การดูแลรักษาความสะอาดยังคงมีความสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการอักเสบติดเชื้อบริเวณแผลได้ และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ หรือการอยู่กลางแจ้ง
คำแนะนำและข้อปฏิบัติหลังการผ่าตัดเพื่อถอนฟันคุด
- ประคบด้วยถุงเย็นประมาณ 30
นาทีทันทีหลังการผ่าตัด
- ควรกัดผ้าก๊อซแน่นๆประมาณ 30
นาที เพื่อห้ามเลือด
และควรเปลี่ยนผ้าชิ้นใหม่หลังจากนั้นจนกว่าเลือดจะหยุดไหล
- ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากภายใน 6
ชั่วโมงหลังการถอนฟัน
- ในกรณีที่มีเลือดออกเล็กน้อย
ควรทำการอมน้ำเกลือเย็นๆไว้สักครู่
- ไม่ควรบ้วนน้ำภายใน 12 ชั่วโมงหลังการถอน
- สามารถบ้วนปากได้ด้วยน้ำเกลือ ( เกลือ 1
ช้อนชา + น้ำอุ่น 1
แก้ว) 12
ชั่วโมงหลังการถอนฟัน
- สามารถแปรงฟันได้ตามปกติแต่ควรให้ความระมัดระวังบริเวณแผล
- ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เย็นๆ และรสไม่จัดในช่วง 2
– 3 วันแรก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อาการปวดหลังการถอนสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่สั่งโดยทันตแพทย์
|